รากสามสิบ

รากสามสิบ สมุนไพรบำรุงสตรี แถมพ่วงสรรพคุณอื่น ๆ มาเพียบ !

          รากสามสิบ สรรพคุณสมุนไพรไทยเพื่อสุขภาพที่คนอยากมีลูกห้ามพลาด 

          รากสามสิบ สรรพคุณเด่น ๆ ของสมุนไพรตัวนี้ขึ้นชื่อเรื่องเป็นยาบำรุงสำหรับสตรี ซึ่งหลายคนอาจเคยเห็นสมุนไพรรากสามสิบแบบแคปซูลกันมาบ้าง แล้วรู้ไหมคะว่า ประโยชน์ของรากสามสิบ สมุนไพรตัวเด็ดนี้ไม่ได้มีดีแค่ช่วยคนอยากมีลูกเท่านั้น

รากสามสิบ สมุนไพรนี้มีที่มา

          รากสามสิบแท้จริงแล้วถูกเรียกหลายชื่อมาก ๆ เช่น สาวร้อยผัว จ๋วงเครือ (ภาคเหนือ) ผักชีช้าง ผักหนาม (ภาคอีสาน) สามร้อยราก สามสิบ ชีช้าง จั่นดิน หรือม้าสามต๋อน มีชื่อสามัญว่า Shatavari 

          ส่วนลักษณะต้นรากสามสิบเป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็ง มีหนามแหลม มีเหง้าและรากใต้ดินคล้ายรากของต้นกระชาย ดอกมีขนาดเล็ก สีขาว แยกเป็นช่อ มีกลิ่นหอม เป็นต้นที่มีผลสดลักษณะกลม ผิวเรียบมัน และมีเมล็ดสีดำ  

สรรพคุณรากสามสิบ

          รากสามสิบถูกเปรียบให้เป็นพลังแห่งการฟื้นฟูความสาว (Female Rejuvenation) เป็นยาโบราณที่หมอแผนโบราณและแพทย์สมุนไพรใช้เป็นยาบำรุงสำหรับสตรีมาตั้งแต่อดีต ซึ่งก็นับเป็นที่มาของชื่อสาวร้อยผัว ชื่อเล่นอีกชื่อของรากสามสิบนั่นเอง โดยคนโบราณมักจะนำรากมาต้มกินหรือปั้นเป็นลูกกลอนกินกับน้ำผึ้ง ซึ่งบอกต่อ ๆ กันว่า จะช่วยบำรุงสตรีให้ไมว่าจะอายุเท่าไรก็มีลูกได้ง่าย

          นอกจากนี้สมุนไพรรากสามสิบยังผ่านการวิจัยสรรพคุณมามากมาย โดยพบว่า รากสามสิบมีสรรพคุณทางเภสัชวิทยาตามนี้ติดตัวอยู่ด้วย

          - ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา 

          - คลายกล้ามเนื้อมดลูก 

          - บำรุงหัวใจ 

          - ลดการอักเสบ 

          - แก้ปวด 

          - ยับยั้งเบาหวาน 

          - ปราบเซลล์มะเร็ง 

          - กระตุ้นภูมิคุ้มกัน 

          - ต้านภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ 

          - ลดระดับไขมันเลือด 

          - ป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

          - ลดอาการหัวใจโตที่เกิดจากความดันโลหิตสูง

          - มีฤทธิ์ใกล้เคียงฮอร์โมนเอสโตรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง)

          - ช่วยสร้างสมดุลฮอร์โมนเพศหญิง

          - ขับน้ำนม

          - ช่วยให้การตกไข่สมบูรณ์

          - ช่วยบำรุงกำลังท่านชาย

          - เสริมความแข็งแรงของน้ำเชื้ออสุจิ

          - ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

          - ลดอาการกรดเกินในกระเพาะอาหาร

          - ยับยั้งพิษต่อตับ

          - แก้ริดสีดวงทวาร

          - ขับลม

          - ขับปัสสาวะ

          - ขับเสมหะ

          - บำรุงเด็กในครรภ์

          - แก้ตกเลือด

          - รักษาโรคคอพอก

          - แก้ปวดเมื่อย ครั่นตัว

          - ฝนรากทาเป็นยาแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อยได้

          - กระตุ้นประสาท ชูกำลัง

          และด้วยสรรพคุณของรากสามสิบที่มีฤทธิ์ใกล้เคียงกับฮอร์โมนเอสโตรเจน คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยาจีงได้ทำการศึกษาเรื่อง ผลของสารสกัดรากสามสิบต่อการป้องกันการสลายเนื้อกระดูกและอวัยวะสืบพันธุ์ ในหนูแรทที่ถูกตัดรังไข่ เนื่องจากเล็งเห็นว่า โรคกระดูกพรุนซึ่งมักจะเกิดกับเพศหญิงมากกว่าเพศชายนั้น มีสาเหตุหลักจากการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนภายหลังหมดประจำเดือน โดยได้ผลการทดลองมาว่า หนูที่ได้รับสารสกัดสมุนไพรรากสามสิบหลังจากถูกตัดรังไข่ มีน้ำหนักมวลกระดูกที่มากกว่ากลุ่มหนูถูกตัดรังไข่แต่ไม่ได้รับสารสกัดสมุนไพรรากสามสิบ 

          นอกจากนี้สารสกัดรากสามสิบยังไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเยื่อบุโพรงมดลูก ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า สารสกัดรากสามสิบอาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันการสลายของเนื้อกระดูกในหนูทดลองได้ โดยไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่ออวัยวะสืบพันธุ์ ทว่ายังคงต้องทดลองเพิ่มเติมเพื่อศึกษาว่า สารสกัดรากสามสิบจะมีผลกระทบใด ๆ กับอวัยวะอื่นหรือไม่

หารากสามสิบได้จากที่ไหน

          แม้ต้นรากสามสิบจะยังมีให้เห็นอยู่ในประเทศไทย แต่ก็ไม่จำเป็นต้องไปขุดหารากสามสิบมาต้มกินให้เหนื่อย เพราะปัจจุบันมีสารสกัดรากสามสิบในรูปแคปซูลมาให้เลือกซื้อมากมาย แต่ทั้งนี้ควรตรวจดูให้แน่ว่าแคปซูลรากสามสิบมีเครื่องหมายการค้าและได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาหรือไม่

          แต่หากใครสามารถหาต้นรากสามสิบสด ๆ ได้ จะนำมาต้มยากินเองเราก็มีสูตรยาสมุนไพรรากสามสิบมาให้ด้วยค่ะ

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรรากสามสิบ

          เนื่องจากสมุนไพรรากสามสิบออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังนั้นจึงจัดเป็นยาสมุนไพรที่ไม่ปลอดภัยนักต่อเพศหญิงที่มีความเสี่ยงโรคมะเร็งอยู่แล้ว เช่น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเนื้องอกในมดลูก (Uterine Fribrosis) หรือมีก้อนเนื้อในเต้านม (Fibrocystic Breast) เป็นต้น ดังนั้นไม่ว่าจะใช้สมุนไพรอะไรก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะดีที่สุดนะคะ
        
          เห็นสรรพคุณรากสามสิบกันไปแล้วหลายคนเริ่มสนใจอยากหารากสามสิบมาบำรุงสุขภาพกันบ้าง แต่ก็อย่าลืมที่เตือนไว้นะคะ ก่อนซื้อแคปซูลรากสามสิบมากิน ควรตรวจสอบแหล่งที่มาและเครื่องหมายการค้า รวมทั้งการรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือด้วย 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สมุนไพรอภัยภูเบศร
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา 
หน่วยปฏิบัติการวิจัยเคมีสารสนเทศ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Visitors: 48,487