ติ้วขาว

ติ้วขาว

ติ้วขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Cratoxylum formosum (Jacq.) Benth. & Hook.f. ex Dyer (Cratoxylum formosum subsp. formosum) ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ติ้ว (HYPERICACEAE)

สมุนไพรติ้วขาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แต้วหิน (ลำปาง), ผักเตา เตา (เลย), ติ้วส้ม (นครราชสีมา), กวยโชง (กาญจนบุรี), ตาว (สตูล), ติ้วแดง ติ้วยาง ติ้วเลือด ติ้วเหลือง (ภาคเหนือ), ติ้วเหลือง (ภาคกลาง), แต้ว (ภาคใต้), ผักติ้ว เป็นต้น[1]

หมายเหตุ : ต้นติ้วขาว (ผักติ้ว) ชนิดที่กล่าวถึงในบทความนี้ (สามารถรับประทานได้) เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับต้นติ้วขน หรือ ติ้วหนาม (ไม่สามารถรับประทานเป็นผักได้) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cratoxylum formosum subsp. pruniflorum (Kurz) Gogelein 

ลักษณะของติ้วขาว

  • ต้นติ้วขาว จัด เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มีความสูงของต้นเฉลี่ยประมาณ 3-12 เมตร และอาจสูงได้ถึง 35 เมตร เรือนยอดเป็นทรงพุ่มกลม โคนต้มมีหนาม กิ่งก้านเรียว ส่วนกิ่งอ่อนมีขนนุ่มอยู่ทั่วไป เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลแดง แตกล่อนเป็นสะเก็ด ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลแกมเหลือง ลำต้นมีน้ำยางสีเหลืองปนแดงซึมออกมาเมื่อถูกตัดหรือเกิดแผล ขยายพันธุ์วิธีการใช้เมล็ด เป็นต้นไม้ที่ทนแล้งได้ดี พบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางภาคใต้ตอนเหนือ โดยจะขึ้นตามป่าดิบแล้ง ป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง ป่าตามเชิงเขา และตามป่าเบญจพรรณ
  • ใบติ้วขาว ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปวงรีแกมรูปไข่กลับ หรือเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบสอบเรียบ ส่วนขอบใบโค้งเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-4.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-13 เซนติเมตร ผิวใบทั้งสองด้านมีขนละเอียด ใบเมื่ออ่อนจะเป็นสีชมพูอ่อนถึงสีแดง เรียบและเป็นมันวาว โดยในช่วงฤดูหนาวจะเห็นเรือนพุ่มทั้งหมดเป็นสีชมพูอ่อน ใบแก่เป็นสีเขียวสด เรียบ เกลี้ยง หลังใบบนเป็นมัน ส่วนท้องใบมีต่อมกระจายอยู่ทั่วไป ใบแก่เป็นสีแดงหรือสีแสด มีเส้นข้างใบประมาณ 7-10 คู่ โดยจะโค้งจรดกันใกล้ขอบใบ และมีก้านใบยาวประมาณ 0.6-1.6 เซนติเมตร
  • ดอกติ้วขาว ออก ดอกเป็นช่อแบบกระจุกตามกิ่งเหนือรอยแผลของใบ กลีบดอกเป็นสีขาวอมสีชมพูอ่อนถึงสีแดง กลีบดอกมีบางมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกตามซากใบ หลุดร่วงได้ง่าย ดอกมีอยู่ 5 กลีบ เมื่อดอกบานจะขยายออกประมาณ 1.2 เซนติเมตร ก้านดอกเรียวเล็กและมีกาบเล็ก ๆ ที่ฐานกลีบด้านใน ดอกมีเกสตัวผู้สีเหลือง สั้น ๆ อยู่จำนวนมาก ก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นกลุ่ม 3 กลุ่ม ส่วนเกสรตัวเมีย ก้านเกสรเป็นสีเขียวอ่อนมี 3 อัน และมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอ่อนปนสีแดง โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม

ผลติ้วขาว ผล เป็นแบบแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่แกมรูปกระสวย ผิวผลมีนวลสีขาว ผลเมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลดำ ลักษณะของผลเป็นแบบแคปซูล ปลายแหลม ผิวเรียบและแข็ง มีขนาดกว้างประมาณ 0.4-0.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.3-1.8 เซนติเมตร และจะแตกออกเป็น 3 แฉกเมื่อแก่ ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล ส่วนที่ฐานดอกมีกลีบเลี้ยงยังคงอยู

สรรพคุณของติ้วขาว

  1. ช่วยบำรุงโลหิต ฟอกโลหิต (ยอด,ใบอ่อน,ดอก,เถา)
  2. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำกินแก้ธาตุพิการ (เปลือกต้น)
  3. ช่วยแก้ประดง (ยอด,ใบอ่อน,ดอก,เถา)
  4. ผักติ้วเป็นผักที่มีวิตามินเอสูง จึงมีสรรพคุณช่วยป้องกันไม่ให้เด็กเป็นตาบอดกลางคืน และโรคตาไก่
  5. ช่วยขับลม (ยอด,ใบอ่อน,ดอก,เถา)
  6. รากและใบ ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการปวดท้อง (รากและใบ)
  7. ใช้รากผสมกับรากปลาไหลและหัวแห้วหมู นำมาต้มกับน้ำดื่มวันละ 3 ครั้งเป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการปัสสาวะขัด (ราก)
  8. แก่นและลำต้น ใช่แช่กับน้ำดื่ม ช่วยแก้ปะดงเลือด หรืออาการเลือดไหลไม่หยุด (แก่นและลำต้น)
  9. ต้นและยางจากเปลือกต้น ใช้ทาแก้อาการคัน (ยาง)
  10. เปลือกและใบ นำมาตำผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ทารักษาโรคผิวหนังบางชนิด (เปลือกและใบ)
  11. น้ำยางจากต้น ใช้ทารักษารอยแตกของส้นเท้าได้ (ยาง)
  12. ช่วยแก้อาการปวดตามข้อ แก้ไขข้อพิการ (ยอด,ใบอ่อน,ดอก,เถา)
  13. มีงานวิจัยเรื่องการทดลองสารที่พบจากใบผิวติ้วขน โดยพบว่ามีฤทธิ์ในการต้านมะเร็งตับได้ และยังไม่ทำลายเซลล์ปกติอีกด้วย แต่งานวิจัยดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้นพอที่จะเอาไปใช้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ จึงสรุปได้แต่เพียงว่า การรับประทานผักติ้วเป็นประจำจะช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งตับได้ (ใบ)

 

ประโยชน์ของติ้วขาว

 

  1. ยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกอ่อนของติ้วขาวหรือผักติ้วใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับลาบ ก้อย น้ำตก แจ่ว ซุปหน่อไม้ น้ำพริก น้ำพริกปลาร้า ขนมจีน หมี่กะทิ เมี่ยงญวน แหนมเนืองเวียดนาม หรือจะนำไปประกอบอาหาร เช่น ใส่ต้มหรือแกงต่าง ๆ เพื่อใช้ปรุงรสเปรี้ยวแทนการใช้มะนาว เช่น แกงเห็ด แกงปลา
  2. ดอกอ่อน ใช้ทำซุปหรือยำได้ แต่จะนิยมใช้ติ้วขาวมากกว่าติ้วขน เพราะติ้วขาวมีรสชาติขมและฝาดน้อยกว่าติ้วขน
  3. สารสกัดด้วยน้ำของติ้วขนมีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้กับปลานิล โดยปลานิลที่เลี้ยงด้วยอาหารที่ผสมด้วยสารสกัดติ้วขน (อัตราส่วน 1.5% (w/w)) จะมีภูมิคุ้มกันแบบไม่จำเพาะ (Nonspecific immune response) สูงขึ้น
  4. สารสกัดจากผักติ้ว (ยอดอ่อน) ที่เข้ากระบวรการสกัดผสมกับเอทานอล (และขั้นตอนอีกหลายขั้นตอน) จนได้สารจากผักติ้วที่ชื่อว่า “คอลโรจินิกเอซิก” สามารถนำไปใช้ยับยั้งกลิ่นหืนของอาหารได้เป็นอย่างดี (งานวิจัยของนิสิตโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
  5. ไม้ติ้วขาวสามารถนำมาใช้ในการก่อสร้าง ทำโครงสร้างบ้าน สร้างขื่อบ้าน ทำกระด้านพื้น สร้างรั้ว ทำเสาเข็ม ทำด้ามเครื่องมือ จอบ เสียม เครื่องตกแต่งภายในเรือน กระสวนทอผ้า ทำหีบใส่ของ ฯล

 คุณค่าทางโภชนาการของผักติ้ว (ยอดอ่อน,ใบอ่อน,ดอก) ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 58 กิโลแคลอรี่
  • โปรตีน 2.4 กรัม
  • ไขมัน 1.7 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 8.2 กรัม
  • เส้นใยอาหาร 1.4 กรัม
  • เถ้า 0.6 กรัม
  • น้ำ 85.7 กรัม
  • วิตามินเอ 7,500 หน่วยสากล
  • วิตามินบี1 0.04 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี2 0.67 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี3 3.1 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 56 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 67 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 2.5 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 19 มิ

แหล่งที่มา : ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม (กองโภชนาการ กรมอนามัย)

 

Visitors: 44,423