อบเชย

อบเชย สรรพคุณต้านเบาหวานลดน้ำตาลในเลือดได้เยี่ยม

     อบเชยเป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการทำงานในระบบการให้สัญญาณอินซูลิน (Insulin-Signaling System) และจะดีมากหากอบเชยได้ทำหน้าที่ก่อนจะนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ อีกทั้งยังสามารถใช้อบเชยร่วมกันกับฮอร์โมนอินซูลินได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบสาร MHCP ที่สามารถช่วยลดความดันโลหิตจากการทดลองในสัตว์ลงได้ และมีคุณสมบัติสำคัญที่เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อร่างกาย

     แม้ในปัจจุบันสมุนไพรอบเชยจะยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อใช้แทนยาก็ตาม แต่ ดร.แอนเดอร์สัน ก็ได้มีการแนะนำให้นำมาบรรจุในแคปซูลเพื่อรับประทานเป็นยาสมุนไพรป้องกันเบาหวานได้เช่นเดียวกัน โดยให้ทดลองใช้ 1/4 ช้อนชาถึง 1 ช้นชาต่อวัน โดยใน 1 ช้อนชาจะมีตัวยาหนักประมาณ 1,200 มิลลิกรัม ดังนั้น ขนาด 1/4  ช้อนชาจึงได้ปริมาณเท่ากับ 300 มิลลิกรัม และสามารถบรรจุใส่ลงในแคปซูลหมายเลข 1 ได้แบบพอดี แนะนำให้ทาน 1 แคปซูล ทุกมื้ออาหาร โดยทานวันละ 4 มื้อ สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานสูงคือคนที่มีพ่อแม่มีประวัติป่วยเป็นเบาหวาน ควรทานยาดังกล่าวพร้อมกันกับมื้ออาหารใหญ่วันละ 1-2 เม็ด สรรพคุณจากยาสมุนไพรอบเชยนี้จะทำหน้าที่ช่วยในเรื่องของการย่อยอาหารและช่วยขับลมได้ค่ะ สำหรับอบเชยชนิดที่ ดร.แอนเดอร์สัน นำมาใช้เพื่อการทดลองทำยานั้นเป็นเปลือกอบเชยจีน Cassia (Cinnamomum cassia) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันกับชนิดที่มีอยู่ในป่าของไทยเราแต่หากสามารถนำเอาอบเชยชวามาทำเป็นยาได้จะดีที่สุด

     สำหรับการนำเอาอบเชยมาใช้เป็นสมุนไพรเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด นับเป็นวิธีที่ช่วยผู้ป่วยโรคเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับการใช้สารธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกรที่มีอาชีพปลูกอบเชยจำหน่ายทั้งในแถบเอเชียเขตร้อนและรวมถึงประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ ยังมีหลายฝ่ายเข้าใจว่าอบเชยที่ดีนั้นคือ อบเชยที่ไม่ได้ผ่านการฉายแสงเพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนจึงควรนำเอาเปลือกอบเชยแห้งที่มีลักษณะม้วนอยู่เป็นหลอดนั้นมาบดให้ละเอียดเพื่อเก็บเอาไว้ใช้เองหรือเพื่อจำหน่ายก็ได้ แต่ยังมีสิ่งสำคัญสำหรับการใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานคือ ควรใส่ใจเรื่องอาหารที่ควรงดทานควบคู่กับการหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ หากปฏิบัติตนตามแพทย์สั่งพร้อมกับเข้าพบแพทย์ตามนัดเสมอ การที่นำเอาอบเชยมาใช้ร่วมกันก็ควรแจ้งให้แพทย์ที่รักษาได้ทราบด้วย

     จากผลการศึกษาวิจัยสำหรับการใช้อบเชยในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารของเดือนธันวาคม พ.ศ.2546 พบว่าการนำอบเชยมาใช้ผู้ป่วยโรคเบาหวานผู้ป่วยนั้นๆ มีระดับน้ำตาล คลอเรสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดดีขึ้นระหว่าง 12-30% จึงกลายเป็นผลที่น่าพอใจอย่างมากสำหรับการนำเอามาใช้เพื่อป้องกันและใช้ร่วมกันกับยารักษาโรคเบาหวานในผู้ป่วยเบาหวานต่อไปได้อย่างปลอดภัย

     สรรพคุณของอบเชยนอกจากช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีแล้ว ยังช่วยให้อาการในท้องดีขึ้น เช่น บรรเทาอาการท้องอืด จุกเสียดแน่น ช่วยขับลม รักษาแผลในกระเพาะอาหาร แก้อาการท้องร่วง ช่วยย่อยขับปัสสาวะและย่อยไขมัน โดยมีส่วนเข้าไปกระตุ้นการสร้างน้ำย่อยให้ผลิตออกมาเพื่อใช้สำหรับย่อยไขมันให้มากขึ้นและเป็นไปได้ดีขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ อบเชยยังช่วยรักษาอาการอ่อนเพลีย ทำให้ร่างกายสดชื่น มีสารที่ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นผลงานจากการวิจัยของสหรัฐอเมริกที่ได้รับผลการยืนยันอย่างน่าไว้วางใจมาแล้ว

     การทานผงอบเชยนอกเหนือจากการในรูปแบบเป็นผงบดบรรจุในแคปซูลแล้ว เรายังสามารถนำเอาอบเชยมาใช้สำหรับปรุงอาหารคาวหวานและปรุงยาได้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะนำมาใส่ในเครื่องผัดอย่างผัดผงกระหรี่หรือต้มในเครื่องน้ำพะโล้ก็ยังได้ สำหรับการนำมาใส่เป็นส่วนผสมในของหวานนั้นก็ได้แก่ ใส่ลงในเบอรี่ ลูกอมและยังสามารถนำมาบดให้เป็นผงละเอียดเพื่อโรยหน้ากาแฟได้อีกด้วยค่ะ ในกรณีที่ต้องการใช้ด้วยตนเอง สำหรับการเลือกซื้อนั้นคุณควรซื้อชนิดแผ่นม้วนเป็นหลอดจากนั้นนำมาบดใช้ด้วยตัวเอง และควรเลือกแบบใหม่ๆ หรือยังไม่ถูกนำไปต้มสกัดเอารสและกลิ่นออกไปก่อนหน้านั้นแล้ว เพราะหากเราเลือกซื้อไม่ดีก็อาจนำมาใช้รักษาอาการป่วยไม่ได้ผลนัก ดังนั้น ก่อนการเลือกซื้อจึงต้องคำนึงถึงคุณภาพและชนิดในการนำเอาอบเชยมาใช้ด้วย และนอกเหนือจากการใชเปลือกอบเชยแล้วในตำราไทยยังระบุไว้ว่า รากและใบของอบเชยยังมีกลิ่นหอมรสสุขุมจึงสามารถนำมาต้มดื่มเพื่อบำรุงธาตุ ขับลมและช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ค่ะ

     ในสรรพคุณที่เราหยิบมากล่าวถึงนั้นเป็นส่วนที่สามารถละลายน้ำได้ ไม่ใช่ส่วนของน้ำมันที่กลั่นได้ (cinnamon oil) โดยนำมาใช้ในอุตสาหกรรมสำหรับแต่งกลิ่นสุรา ขนมหวาน ยาและสบู่ เป็นต้น สำหรับชาวตะวันตกพวกเขามักนิยมนำเอาอบเชยที่มีลักษณะเป็นหลอดม้วนกลมมาใช้คนเครื่องดื่มชา กาแฟหรือโกโก้เพื่อให้สาร MHCP ได้ละลายออกมาผสมในเครื่องดื่มนั้นๆ พร้อมกับจะได้ออกฤทธิ์ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไปพร้อมกันด้วยนั่นเอง แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ไม่อาจทราบได้ถึงปริมาณของ MHCP ที่ละลายออกมาเจือปนในเครื่องดื่มว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด แต่ในต้นอบเชยที่มีอายุยาวนานมากกว่า 6 ปี หากเรานำเอาเปลือก ลำต้น กิ่งและใบมาผ่านการสกัดทำเป็นน้ำมันหอมระเหย ยิ่งกับอบเชยญวนแล้วจะได้น้ำมันหอมระเหยมากถึง 2.5% เลยทีเดียว

ชนิดของอบเชย

     อบเชย (Cinnamon) เป็นพืชอยู่ในวงศ์ Lauraceae สกุล Cinnamomum  ส่วนมากมักพบในทวีปเอเชียและออสเตรเลียซึ่งมีมากกว่า 50 ชนิด ส่วนในประเทศไทยพบได้มากถึง 16 ชนิด ลักษณะสมุนไพรชนิดนี้มักจะมีเปลือกหนา กลิ่นหอมอ่อน ส่วนที่เรามักนำเอามาใช้ก็คือเนื้อไม้ภายในที่แห้งแล้วจากต้นอบเชย มีสีน้ำตาลอมแดง โดยในประเทศไทยเรามีทั้งประเภทที่ปลูกและสามารถขึ้นได้เองตามธรรมชาติป่าทั่วไป หากก็ไม่ถึงกับสามารถนำมาจำหน่ายได้เป็นกอบเป็นกำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียอย่าง จีน ศรีลังกาและญวน แต่อบเชยญวนและชวาก็มีขึ้นได้ดีในประเทศอีกทั้งใช้เวลาปลูกเพียง 3 ปีก็มีผลผลิตซึ่งเก็บมาจำหน่ายได้แล้วเช่นกัน

ต้นอบเชยมีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงประมาณ 4-10 เมตร เป็นต้นไม้ที่มีขนาดกลาง เปลือกและใบนั้นมีกลิ่นหอม ใบมีลักษณะเดี่ยวเรียงตรงข้ามกัน ส่วนดอกจะผลิออกที่บริเวณซอกของใบและปลายของกิ่ง ดอกจะผลิออกเป็นย่อยๆ มีสีเหลืองอ่อน อบเชยเป็นพืชในตระกูลเดียวกันกับกะเพราต้น ข่าต้น ชะเอม การบูรและเทพทาโร ซึ่งจำแนกออกได้ 5 ชนิด ดังนี้

  1. อบเชยศรีลังกา (Cinnamomum zeylanicum) คนไทยเราจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "อบเชยเทศ" เป็นอบเชยที่มีราคาแพงที่สุด 
  2. อบเชยอินโดนีเซียหรืออบเชยชวา (Cinnamomum burmanii Blume) เป็นสมุนไพรอบเชยที่ได้รับความนิยมสูงสุดสำหรับการนำมาใช้ในปัจจุบัน 
  3. อบเชยญวน (Cinnamomum loureirii Nees) มีรสชาติหวานแต่มักไม่ค่อยมีกลิ่นหอม แต่จะปลูกได้ดีมากในประเทศไทยอีกทั้งประเทศไทยเราในปัจจุบันยังคงส่งออกอบเชยชนิดนี้
  4. อบเชยจีน (Cinnamomum cassia Nees ex. Blume) ลักษณะนั้นจะเป็นเปลือกหนาและเนื้อหยาบซึ่งเป็นชนิดที่ ดร.แอนเดอร์สันใช้ศึกษาวิจัยสำหรับทำยารักษาเบาหวาน
  5. อบเชยไทย (Cinnamomum bejolghota) หรืออบเชยต้น (C. iners Rein w. ex. Blume) เป็นชนิดที่พบได้ในป่าเขาที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ในประเทศ แต่ไม่ได้ถูกนำมาปลูกสำหรับผลิตเปลือกอบเชยจำหน่าย และอบเชยไทยมีมากกว่า 16 สายพันธุ์ แต่ยังไม่เคยถูกนำไปศึกษาวิจัยถึงสรรพคุณต่อการรักษาโรคใดๆ ลักษณะของเปลือกอบเชยไทยนั้นจะมีเปลือกค่อนข้างหนากว่าอบเชยประเภทอื่น

จากนี้ก็คงได้ทราบกันไปไม่มากก็น้อยแล้วสำหรับสมุนไพรอบเชยว่ามีสรรพคุณอย่างไรบ้างทั้งดีต่อการบำรุงสุขภาพร่างกายและช่วยป้องกันการเกิดโรค โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้น หากหมั่นนำเอาสมุนไพรชนิดนี้มาประกอบอาหารรับประทานเป็นประจำก็ย่อมช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดีแน่นอน หรือจะซื้อแบบแคปซูลมารับประทานก็นับว่าสะดวกและช่วยให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นได้แล้วเช่นกัน

Visitors: 44,386